พระราชประวัติ ของ เหงียน ฟุก กั๋ญ

เหงียน ฟุก กั๋ญเป็นพระราชบุตรลำดับที่สองในจักรพรรดิซา ล็อง (หรือในพงศาวดารไทยเรียกว่าองเชียงสือ)[1] ประสูติแต่ต๊ง ฟุก ถิ ลาน (Tống Phúc Thị Lan, 宋福氏蘭) ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินีเถื่อ เทียน (Thừa Thiên, 承天) พระมเหสีพระองค์แรก

บทบาทด้านการทูตกับฝรั่งเศส

ค.ศ. 1785 ขณะมีพระชันษาได้ 5 ปี พระองค์เสด็จไปประเทศฝรั่งเศสกับปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน หรือบ๊า ดา หลก บาทหลวงคาทอลิกชาวฝรั่งเศส เพื่อลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. 1788[2][3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"...องเชียงสือมีพวกพ้องเปนฝรั่งเศสอยู่คนหนึ่ง ไปว่ากล่าวขอให้ช่วย ขอกองทัพฝรั่งเศสมารบขบถ ผู้ที่เปนเพื่อนนั้นก็เปนคนสามัญ มิใช่ข้าราชการฝรั่งเศส องเชียงสือก็เปนคนสิ้นคิดระเหระหนอยู่ กลัวว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่เชื่อถือเอาธุระ จึงได้มอบบุตรอันยังเด็กไปเปนจำนำคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อสหายผู้นั้นพาบุตรองเชียงสือออกไปเมืองฝรั่งเศส เผอิญสบช่องกำลังเมืองฝรั่งเศสเปนจลาจล จึงพาไปพักอยู่เมืองฮอลแลนด์ องเชียงสือก็ทอดธุระว่าเปนอันไม่สำเร็จ จึงได้มุ่งหน้าจะพึ่งกรุงศรีอยุทธยา [คือกรุงรัตนโกสินทร์] ฝ่ายเดียว"[4]

การเสด็จในครั้งนั้นมีผู้ติดตามจากราชสำนักเวียดนามอันประกอบด้วยขุนนางสองคน พระญาติพระองค์หนึ่งซึ่งต่อมาได้เข้ารีตเป็นคริสตังและถูกเรียกอย่างลำลองว่าเจ้าชายปัสกาล (Prince Pascal) นอกจากนี้ยังมีทหารและข้าราชบริพารอีกจำนวนหนึ่ง[5] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1785 ได้มีงานเลี้ยงรับรองหลังเสด็จถึงเมืองพอนดิเชอร์รี (Pondicherry)[5] ต่อมาออกเดินทางจากพอนดิเชอร์รีไปยังฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1786[6] จนถึงประเทศฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787[7]

หลังเสด็จถึงได้ระยะหนึ่ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสจึงทรงถวายการต้อนรับด้วยการงานเลี้ยงฉลองพระราชอาคันตุกะในวันที่ 5 หรือ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1787 ก่อนลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนปีเดียวกัน[8] การเสด็จมาของเจ้าชายกั๋ญนั้น สร้างความสนพระทัยในหมู่ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถึงกับทรงจ้างให้เลออนาร์ โอตีเย (Léonard Autié) ช่างทำผมผู้มีชื่อเสียง ออกแบบทรงพระเกศาโดยตั้งชื่อว่า "แบบเจ้าชายแห่งโคชินจีน" (au prince de Cochinchine) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายกั๋ญ[9] ทั้งมีการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์โดยโมเปแร็ง (Maupérin) ปัจจุบันถูกจัดแสดงที่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส นอกจากนี้เจ้าชายกั๋ญยังทรงสร้างความฉงนงงงวยแก่ราชสำนักฝรั่งเศส เพราะพระองค์ได้เป็นพระสหายที่ทรงเล่นอยู่กับเจ้าชายหลุยส์ โฌแซ็ฟ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16[10][11]

เจ้าชายกั๋ญทรงสนพระทัยในคริสต์ศาสนาเป็นอันมาก[12] ด้วยมีพระราชศรัทธาที่จะเข้าพิธีล้างบาปเป็นกำลัง[13] แต่บาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนถวายคำแนะนำว่าไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าอาจสร้างปฏิกิริยาเชิงลบจากราชสำนักเวียดนาม[14]

นิวัตเวียดนาม

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1787 ได้มีงานเลี้ยงฉลองการเสด็จออกจากฝรั่งเศสบนเรือดรียาด (Dryade)[15] และกลับมาประทับที่พอนดิเชอร์รีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1788 จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1789[16] เมื่อพระองค์เสด็จถึงแผ่นดินเวียดนามแล้ว พระองค์ก็ปฏิเสธที่จะคุกพระชานุบำเพ็ญพระราชกุศลหน้าแท่นบูชาบรรพบุรุษ รวมทั้งทรงทาสีรูปไม้กางเขนลงบนพระพุทธรูป[17] พระองค์มักจะร่วมมิสซากับคริสตังอื่น ๆ เพียงแต่มิได้เข้าพิธีศีลล้างบาปเป็นกิจจะลักษณะอย่างที่ทรงปรารถนา[18]

พระรูปเจ้าชายกั๋ญที่มีบาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนโอบกอดขณะลงพระนามาภิไธยในสนธิสัญญาแวร์ซายไซ่ง่อน

ในปี ค.ศ. 1793 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "องค์ยุพราชเจ้าแห่งวังตะวันออก" (Đông Cung Hoàng Thái tử)[19] ในปี พ.ศ. 1794 ทุกครั้งที่พระองค์ตามเสด็จพระราชชนกพร้อมกับกองทหาร พระองค์จะพาบาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนตามเสด็จเสมอ[20] พระองค์และบาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนเคยถูกฝ่ายเต็ยเซิน (Tây Sơn) ปิดล้อมที่ป้อมเมืองเซียนคั้ญ (Diên Khánh) ในปีเดียวกันนั้น[20]

กระทั่ง ค.ศ. 1799 บาทหลวงปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอนมรณภาพขณะทำการล้อมโจมตีที่เมืองกวีเญิน (Qui Nhơn) เหงียน ฟุก กั๋ญทรงกล่าวถึงอดีตพระอาจารย์นี้ว่า[21]

"โอ้อนิจจา ! เรามีความสนิทสนมกันมาหลายปี และคบค้ามาด้วยกันท่ามกลางสงครามและปัญหานานัปการ [...] ท่านได้อุทิศตนในการพัฒนาอันนัมให้รุ่งเรือง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ที่วางแผนการรบอย่างสมบูรณ์แบบทำให้ศัตรูปราชัย แม้นประเพณีของเราท่านจะต่างกันแต่ใจเรานั้นไซร้คงอยู่ในมิตรภาพอันคงทนถาวร"

เหงียน ฟุก กั๋ญอภิเษกสมรสกับต๊ง ถิ เกวียน (Tống Thị Quyên, 宋氏涓) มีพระราชบุตรสองพระองค์คือเหงียน ฟุก หมี เดื่อง (Nguyễn Phúc Mỹ Đường, 阮福美堂) หรือเหงียน ฟุก ด๊าน (Nguyễn Phúc Đán, 阮福旦) และเหงียน ฟุก หมี ถวี่ (Nguyễn Phúc Mỹ Thùy, 阮福美垂)

ในปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงเข้าพิธีล้างบาปอย่างลับ ๆ ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารเวียดนาม ความว่า[22]

"ช่วงที่พระองค์อยู่กับบาทหลวงเวโร [ปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน] พระองค์เป็นผู้ประเสริฐและเคร่งครัดในพระศาสนา แต่หลังบาทหลวงเวโรมรณภาพไปแล้ว พระองค์ก็เปลี่ยนเป็นคนละคน ทรงเสพกามกับนารีเพศและเสวยน้ำจัณฑ์ พระองค์ห่างเหินจากพระศาสนาไปโดยสิ้นเชิง ครั้นเมื่อใกล้ถึงกาลแห่งทิวงคตแล้วก็ทรงรำลึกถึงพระเยซู ด้วยทรงละอายต่อบาปยิ่งนักจึงมีพระราชบัณฑูรให้ขุนนางชั้นผู้น้อยเข้ามาประกอบพิธีล้างบาปอย่างลับ ๆ"

เหงียน ฟุก กั๋ญทิวงคตในปี ค.ศ. 1801 ด้วยฝีดาษ[23] ส่วนหมอสอนศาสนาอ้างว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ[24] หลังทิวงคต จักรพรรดิซา ล็อง พระราชชนกทรงเลือกเหงียน ฟุก ด๋าม พระราชโอรสลำดับที่สี่และเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของเหงียน ฟุก กั๋ญสืบราชบัลลังก์แทนเป็นจักรพรรดิมิญ หมั่งต่อไป[23] อันเป็นการตัดสิทธิ์การสืบราชบัลลังก์ของพระราชโอรสและพระราชนัดดาของเหงียน ฟุก กั๋ญโดยปริยาย

ใกล้เคียง

เหงียน วัน เถี่ยว เหงียน กาว กี่ เหงียน ฟุก กั๋ญ เหงียน ฟู้ จ่อง เหงียน ซวน ฟุก เหงียน ถิ หง็อก ฮวา เหงียน ทุก ถวี่ เตียน เหงียน กวาง หาย (นักฟุตบอลเกิด พ.ศ. 2540) เหงียน กง เฝื่อง เหงียน ต๊วน อัญ

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหงียน ฟุก กั๋ญ http://www.advite.com/APrinceAMissionary.htm http://www.worldcat.org/issn/1275-6865 https://books.google.com/books?id=DyAq7cXdiyMC&pg=... https://books.google.com/books?id=Ex_Hy0sv4T0C&pg=... https://books.google.com/books?id=IkWLq_2lZ2MC&pg=... https://books.google.com/books?id=Jskyi00bspcC&pg=... https://books.google.com/books?id=Jskyi00bspcC&pg=... https://books.google.com/books?id=M8mF1lOrpWgC&pg=... https://books.google.com/books?id=XTW6ZlhLUQYC&pg=... https://books.google.com/books?id=XTW6ZlhLUQYC&pg=...